แตงโม ภาษาอังกฤษ : Watermelon
วิทยาศาสตร์ : Citrullus lanatus (Thunb.) Matsum. & Nakai สำหรับชื่ออื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเรียกว่า “บักโม” ส่วนภาคเหนือจะเรียกว่า “บะเต้า” แต่ถ้าเป็นคนจังหวัดตรังแล้วจะเรียกกันว่า “แตงจีน” เป็นต้น แตงโมนั้นมีต้นกำเนิดในแถบทวีปแอฟริกาในทะเลทรายคาลาฮารี ซึ่งชาติที่แรกที่ปลูกแตงโมไว้รับประทานนั้นก็คือชาวอียิปต์ (สี่พันกว่าปีมาแล้ว) สำหรับประเทศไทยนั้นการปลูกแตงโมจะมีอยู่ทั่วทุกภาคและปลูกได้ทุกฤดู
โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากโดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 สายพันธุ์หลักๆ นั่นก็คือ พันธุ์ธรรมดาทั่วไป (เมล็ดมีขนาดเล็ก รสหวาน เช่น แตงโมจินตหรา แตงโมตอร์ปิโด แตงโมกินรี แตงโมน้ำผึ้ง แตงโมไดอานา แตงโมจิ๋ว เป็นต้น) สายพันธุ์ต่อมาก็คือ พันธุ์ไร้เมล็ด (เป็นพันธุ์ผสมผลิตเพื่อส่งออก) และพันธุ์กินเมล็ด (ปลูกเพื่อนำเมล็ดมาคั่วที่เรียกกันว่า “เม็ดก๋วยจี๋” นั่นแหละ)
แตงโม จัดเป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับ แคนตาลูป ฟักทอง แตงกวา ซึ่งนักพฤกษศาสตร์จัดให้อยู่ในวงศ์แตง (FamilyCUCURBITACEAE) เป็นผลไม้ที่มีน้ำประกอบอยู่ในปริมาณมากจึงมีคุณสมบัติเย็น รับประทานแล้วหวานชื่นใจ สำหรับประโยชน์ของแตงโมนั่นก็เช่น ช่วยลดอาการไข้ คอแห้ง รักษาแผลในปาก เป็นต้น และยังเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพอีกด้วยเพราะอุดุมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด อย่างเช่นวิตามินเอ ซี วิตามินบีรวม แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เป็นต้น แต่สำหรับผู้ที่มีกระเพาะ ม้าไม่แข็งแรง กระเพาะลำไส้อักเสบ หญิงหลังคลอด หลังป่วยหนัก หรือผู้ที่มีอาการปัสสาวะมากและบ่อย มีอาการท้องร่วงง่าย ไม่ควรรับประทานแตงโม
แตงโม มีสารอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญอย่างมากนั่นก็คือ Citrulline (ซิทรูไลน์) ซึ่งจะพบสารนี้ในเปลือกมากกว่าส่วนของเนื้อ ดังนั้นการรับประทานแตงโมที่มีส่วนเปลือกขาวๆติดมาด้วยก็จะเป็นประโยชน์ที่ดีมากกว่าที่จะกินแต่เนื้อสดๆ สำหรับประโยชน์ของสารนี้ก็คือ จะช่วยขยายเส้นเลือด ดีต่อระบบภูมิคุ้มกันและยังเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนอีกด้วย เพราะมีแคลอรีต่ำมาก อย่างไรก็ตามก่อนที่เราจะผ่าแตงโมรับประทานควรจะล้างเปลือกให้สะอาดเสียก่อนเพื่อป้องกันสารพิษตกค้างซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เพราะแตงโมเป็นพืชที่ถูกรบกวนได้ง่ายจากแมลงศัตรูพืชต่างๆ ชาวสวนจึงนิยมที่จะฉีดยาฆ่าแมลงเป็นปกติ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยว่าในเนื้อและเปลือกของแตงโมมีสารออกฤทธิ์ที่ทำงานคล้ายกับไวอากร้า หากบริโภคเข้าไปมากๆ สาร Citrulline ในแตงโมจะทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ในร่างกายทำให้เกิดกรดอะมิโนอาร์จินีนขึ้นมา ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นทำให้หลอดเลือดคลายตัวและทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดดีขึ้นคล้ายๆกับฤทธิ์ของไวอากร้า
แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญแย้งว่าแม้มันจะมีคุณสมบัติดังกล่าว แต่การที่รับประทานแตงโมเข้าไปมากๆก็คงช่วยแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไม่ได้ เพราะน่าจะมีผลแค่ทำให้ร่างกายปัสสาวะบ่อยขึ้นเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาแตงโมจะนำไปใช้เป็นยาขับปัสสาวะมากกว่ายารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และผลเสียที่จะตามมาก็คือ หากรับประทานแตงโมมากเกินไป น้ำตาลในผลแตงโมอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีผลทำให้เป็นตะคริวได้ง่ายขึ้น
ประโยชน์ของแตงโม
- เป็นผลไม้ที่เหมาะกับผู้ต้องการลดความอ้วนหรือควบคุมน้ำหนักอย่างมาก เพราะมีแคลอรี่ต่ำ
- ประโยชน์แตงโมช่วยในการควบคุมน้ำหนักไม่ให้น้ำหนักเกิน ป้องกันการสะสมของไขมันที่เป็นอันตรายกับร่างกาย ลดปริมาณไขมันที่จับอยู่ภายในเลือด
- แตงโมมี “ไลโคปีน” (Lycopene) ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
- ช่วยบำรุงผิวพรรณและเส้นผมให้แข็งแรง เพราะประกอบไปด้วยวิามินและแร่ธาตุหลายชนิด
- แตงโมมีกรดอะมิโน Citrulline ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจ
- แตงโมมีสารออกฤทธิ์ชนิดหนึ่งที่คล้ายกับยาแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อย่างไวอากร้า ซึ่งจะออกฤทธิ์กระตุ้นให้หลอดเลือดคลายตัวช่วยให้ระบบหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น
- มีส่วนช่วยบำรุงสายตา เพราะมีวิตามินเอในผลแตงโม
- มีส่วนช่วยล้างพิษจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปได้ด้วย
- ใช้รับประทานเป็นผลไม้สด ทำเป็นน้ำผลไม้ดื่มคลายร้อน ลดความร้อนในร่างกาย
- เปลือกหรือผลอ่อนใช้ทำเป็นอาหาร อย่างแกงส้ม เป็นต้น
- เปลือกที่มีสีเขียวอ่อนหรือขาวสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้
- นำไปทำเป็นไวน์ได้
- นำไปแปรรูปเป็น แยมแตงโม เมล็ดแตงโม หรือทำเป็นสบู่แตงโมก็ได้
- แตงโมพอกหน้า ใช้ทำเป็นทรีทเม้นท์บำรุงผิว ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิว แก้ปัญหาผิวแห้งกร้าน ช่วยดูดซับความมันบนใบหน้า และลดอาการแสบแดง วิธีการง่ายๆ เพียงแค่นำเนื้อแตงโมมาฝานบางๆ แล้วนำมาวางไว้บนผ้าขาวบาง จากนั้นนำมาวางปิดลงบนใบหน้าให้ทั่วทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
สรรพคุณของแตงโม
- ช่วยแก้เบาหวานและดีซ่าน
- ช่วยบำรุงสมอง (เมล็ด)
- ช่วยบำรุงร่างกาย (เมล็ด)
- ช่วยบำรุงปอด (เมล็ด)
- แตงโมสรรพคุณช่วยควบคุมความดันโลหิต และมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตลงได้ (Citrulline)
- ช่วยรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวได้
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยป้องกันหวัด
- ช่วยลดอาการไข้ แก้คอแห้ง (น้ำแตงโม)
- ใช้เป็นยาลดไข้ ด้วยการใช้ใบมาชงดื่ม (ใบ)
- ช่วยบรรเทารักษาแผลในช่องปาก (น้ำแตงโม)
- ป้องกันการเจ็บคอ ด้วยการนำเปลือกแตงโมไปต้มเดือดแล้วเติมน้ำทรายแล้วนำน้ำมาดื่ม (เปลือก)
- แก้อาการเมาเหล้า
- แก้โรคตับ (เมล็ด)
- แตงโมมีเบตาแคโรทีน ซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจและระบบขับปัสสาวะ
- ช่วยย่อยอาหาร ช่วยระบายท้อง
- สรรพคุณของแตงโมใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้อาการปวดกระเพาะปัสสาวะ (เมล็ด)
- รากมีน้ำยางใช้กินแก้อาการตกเลือดหลังการแท้ง (ราก)
- ใช้ทารักษาแผล ด้วยการใช้เปลือกแตงโมล้างสะอาด นำมาผิงไฟหรือตากให้แห้งแล้วนำมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาบริเวณแผล (เปลือก)
- สรรพคุณแตงโมช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น
- ช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ
คุณค่าทางโภชนาการของผลแตงโมดิบ (ส่วนที่กินได้) ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 30 kcal 130 kJ
- คาร์โบไฮเดรต 7.55 กรัม
- น้ำตาล 6.2 กรัม
- เส้นใย 0.4 กรัม
- ไขมัน 0.15 กรัม
- โปรตีน 0.16 กรัม
- วิตามินเอ 28 ไมโครกรัม 3%
- วิตามินบี1 0.033 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี2 0.021 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี3 0.178 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี5 0.221 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี6 0.045 มิลลิกรัม 3%
- กรดโฟลิก 3 ไมโครกรัม 1%
- วิตามินซี 8.1 มิลลิกรัม 14%
- ธาตุแคลเซียม 7 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุเหล็ก 0.24 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุโพแทสเซียม 112 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุสังกะสี 0.10 มิลลิกรัม 1%
- Cr. http://frynn.com/%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A1/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น